วัฒนธรรมและศาสนา ของ ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์แห่งบัลแกเรีย

ภาพเหมือนผู้อุทิศร่วมสมัยในจิตรกรรมฝาผนังของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์

ในรัชสมัยของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ จักรวรรดิบัลแกเรียที่ 2 เข้าสู่ยุคสมัยแห่งการฟื้นฟูวัฒนธรรม หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของวัฒนธรรมบัลแกเรียครั้งที่ 2[37][38] โดยยุคทองครั้งแรกเกิดขึ้นในรัชสมัยของซาร์ซีแมออนที่ 1 แห่งบัลแกเรีย[39] ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้มีพระบรมราชโองการให้สร้างและซ่อมแซมอารามและโบสถ์หลายแห่ง[3][40] โดยพบภาพเหมือนผู้อุทิศของพระองค์ปรากฏอยู่ในออสชัวรีของอารามบัคกอฟสกีและในโบสถ์หินสกัดแห่งอีวันนอวอ[41] นอกจากนี้เอกสารการบริจาคของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอและหลักฐานอื่นช่วยพิสูจน์ให้ทราบว่ามีศาสนสถานหลายแห่งได้รับการบูรณะหรือสร้างใหม่ในรัชสมัยของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ เช่น มหาวิหารพระมารดาแห่งพระเจ้าเอเลอูซาและโบสถ์เซนต์นิโคลัสที่เมืองแนแซเบอร์[5][41] และอารามแปแชสกี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองแปรนิกเป็นต้น [41][42] นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้างอารามดรากาเลฟสกีและอารามในเมืองกีลีฟาแรวออีกด้วย[5]

นอกจากการสร้างและบูรณะศาสนสถานหลายแห่งแล้ว ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์มีพระบรมราโชบายในการเสริมสร้างสถานะของคริสตจักรบัลแกเรียออร์ทอดอกซ์ให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ด้วยการไล่ล่าและจับกุมกลุ่มนอกรีตและยิว[43] นอกจากนี้พระองค์ยังจัดการประชุมทางศาสนา ซึ่งมีการตำหนิกลุ่มนิกายนอกรีต เช่น ลัทธิบอกอมิล แอดาไมต์และยูไดห์เซอร์[5][44] เป็นจำนวน 2 ครั้ง ในปี ค.ศ. 1350 และ ค.ศ. 1359–1360[45]

ในรัชสมัยของพระองค์ แตออดอซีย์แห่งเตอร์นอวอเป็นผู้แทนชาวบัลแกเรียคนสำคัญในขบวนการฝึกจิตวิญญาณที่เรียกว่าเฮซิแคซึม ซึ่งเป็นวิธีการสวดภาวนารูปแบบหนึ่งที่เน้นการภาวนาในความเงียบสงบและจิตจดจ่ออยู่กับการภาวนา เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมทั่วไปในดินแดนที่นับถืออีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ในช่วงคริสต์ศวรรษที่ 14[46]

นอกจากกิจกรรมทางด้านศาสนาแล้ว กิจกรรมทางด้านวรรณกรรมก็เฟื่องฟูเช่นกัน โดยพบงานวรรณกรรมสำคัญหลายชิ้นที่เขียนขึ้นในสมัยนี้ เช่น การแปลบันทึกเหตุการณ์ของมานาสสิส (ค.ศ. 1344–1345) เป็นภาษาบัลแกเรีย ปัจจุบันงานแปลชิ้นนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุนครรัฐวาติกัน[5][47] พระวรสารซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดบริติช[48] หนังสือเพลงสวดสดุดีตอมีชอฟ (ค.ศ. 1360) ปัจจุบันเก็บรักษาที่มอสโคว [5] และหนังสือเพลงสวดสดุดีโซเฟีย (ค.ศ. 1337)[49] เป็นต้น

ด้านกิจกรรมทางการค้า จักรวรรดิบัลแกเรียมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับมหาอำนาจทางการค้าในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่สาธารณรัฐเวนิส สาธารณรัฐเจนัวและสาธารณรัฐรากูซา[50] โดยในปี ค.ศ. 1353 ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้ออกกฎบัตรอนุญาตให้พ่อค้าชาวเวนิสสามารถซื้อหรือขายสินค้าในดินแดนบัลแกเรียได้ หลังจากที่ดอเจอันเดรอา ดานโดโลยืนยันจะเคารพสนธิสัญญาที่ทั้ง 2 ประเทศได้ทำร่วมกันไว้[51]

อีวัน วาซอฟ ซึ่งเป็นกวีและนักประพันธ์ของบัลแกเรียในยุคสมัยใหม่ ได้แรงบันดาลใจจากยุคสมัยของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ โดยแต่งนิยายสั้นเรื่อง Ivan–Aleksandǎr[52] และบทนาฏกรรม Kǎm propast (สู่ห้วงลึก) ซึ่งงานทั้งสองชิ้นนี้มีซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์เป็นตัวละครหลัก[52]

ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 มีการค้นพบชิ้นส่วนของเสื้อผ้า ซึ่งลงพระนามโดยซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์และถูกร้อยเข้าด้วยทองคำในสุสานของชนชั้นสูงใกล้กับเมืองพีรอต ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเซอร์เบียในเบลเกรด โดยการค้นพบในครั้งนี้ช่วยยืนยันธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในยุคกลางของผู้ปกครองออร์ทอดอกซ์ที่จะพระราชทานเสื้อผ้าที่เคยสวมใส่ให้กับบุคคลสำคัญ[53]

ชื่อสถานที่ในปัจจุบัน ซึ่งตั้งตามพระนามของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้แก่ แหลมอีวัน อาแลกซันเดอร์บนเกาะเนลสันในหมู่เกาะเชตแลนด์ใต้ของทวีปแอนตาร์กติกา[54]

ใกล้เคียง

ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์แห่งบัลแกเรีย ซาร์อีวัน ชิชมันแห่งบัลแกเรีย ซาร์อีวัน อาแซนที่ 2 แห่งบัลแกเรีย ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์แห่งบัลแกเรีย ซาร์อีวัน วลาดิสลัฟแห่งบัลแกเรีย ซาร์อีวัน สแตฟันแห่งบัลแกเรีย ซาร์อีวานที่ 4 แห่งรัสเซีย ซาร์อีวานที่ 5 แห่งรัสเซีย ซาร์อีวัยลอแห่งบัลแกเรีย ซาร์อีวานที่ 3 แห่งรัสเซีย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์แห่งบัลแกเรีย //kosmos.pass.as/static/kosmos/1963/07/pg_0042.htm http://data.aad.gov.au/aadc/gaz/scar/display_name.... http://synpress-classic.dveri.bg/09-2003/patriarsi... http://bgarmy.eamci.bg/Scripts/isapiVWB.dll/doc?TH... http://www.mfa.government.bg/history_of_Bulgaria/ http://www.mfa.government.bg/history_of_Bulgaria/1... http://www.mfa.government.bg/history_of_Bulgaria/1... http://www.mfa.government.bg/history_of_Bulgaria/6... http://www.infotel.bg/rubrics/manastir/p1.htm http://www.slovo.bg/showbio.php3?ID=14